
ภูมิภาคอาเซียน, โลจิสติกส์, โลจิสติกส์อาเซียน, Logisitcs, Supply Chain ภูมิภาคอาเซียน, โลจิสติกส์, โลจิสติกส์อาเซียน, Logisitcs, Supply Chain เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีทำเลที่ตั้งเป็น “ศูนย์กลาง” ในภูมิภาคอาเซียน (Regional Hub) โดยกลุ่มผู้ให้บริการโลจิสติกส์ข้ามชาติ (Logistics Provider) นั้นก็ได้ขยาย “เครือข่าย” ขนถ่ายสินค้าข้ามแดน (Cross Border) โดยเฉพาะประเทศที่มีแผ่นดินติดกัน เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดแผนพัฒนาโลจิสติกส์ของอาเซียนขึ้น เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพความเป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมการค้า การลงทุนทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน
จากการศึกษาสถานะการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ของประเทศใน ASEAN พบว่า ยังมีข้อจำกัดในหลายๆด้าน กล่าวคือ ใน 4 ประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย คือ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซียนั้น ดูเหมือนว่า การพัฒนาด้านโลจิสติกส์ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น และต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างแท้จริง อาทิ ยังไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานและคณะทำงานเพื่อดูแลด้านโลจิสติกส์อย่างจริงจัง เพื่อออกกฎนโยบายด้านโลจิสติกส์ของประเทศ รวมถึงขาดความร่วมมือของหน่วยงานเพื่อพัฒนาด้านโลจิสติกส์ที่เป็นระบบในประเทศ ยกเว้น ประเทศพม่าที่อยู่ระหว่างการปฏิรูประบบขนส่ง โดยมีแผนพัฒนาที่ชัดเจนอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการเปิดเสรีด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น ในขณะที่ เวียดนามแม้จะมีมูลค่าการค้าด้านโลจิสติกส์มากถึง 20% ของ GDP ของประเทศแต่ยังคงไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านโลจิสติกส์อย่างเป็นรูปธรรม และยังพบปัญหาในด้านอื่นๆ อาทิ ยังไม่มีการจัดตั้งหน่วยงาน National Single Window (NSW) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าในประเทศอีกด้วย ส่วนอินโดนีเซียและฟิลลิปปินส์ ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเกาะ จึงยังขาดประสิทธิภาพด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการระบบโลจิสติกส์ของประเทศ และยังมีอุปสรรคในด้านอื่น เช่น ด้านกฎระเบียบด้านศุลกากร เป็นต้น
นอกจากนี้ แม้สิงคโปร์ดูเหมือนเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเทคโนโลยี และการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากที่สุดใน ASEAN แต่ก็มีประเด็นความท้าทายที่ไม่ควรมองข้าม เช่น ข้อจำกัดของทรัพยากรของประเทศ และการดำรงไว้ซึ่งประสิทธิภาพและความสามารถในการเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคในอนาคต
ดังนั้น เราจำเป็นต้องจับตาการพัฒนาการทางด้านโลจิสติกส์ของประเทศอื่นๆใน ASEAN เพราะการดำเนินธุรกิจต่างๆ ต้องพึ่งพาอาศัยกัน การทำธุรกิจกับต่างชาติ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ระบบพื้นฐาน เพื่อมองหาโอกาสที่จะเข้าไปพัฒนาร่วมกันหรือแม้แต่การมองว่าเราต้องปรับปรุงโครงสร้างในประเทศเราอย่างไรเพื่อให้แข่งขันได้ใน ASEAN
เรียบเรียงโดย : BLOG.SCGLogistics
อ้างอิงที่มา : http://www.logisticsthailand.com/home/